นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่น้ำลดลง อาจมีน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ทำให้เสี่ยงเกิดโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 พบผู้ป่วย 71,293 ราย เสียชีวิต 51 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ นครสวรรค์ ชลบุรี กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน และนครปฐม ตามลำดับ ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ที่มีรายงานผู้ป่วยสูง 5 อันดับ คือ พังงา สงขลา ยะลา ตรัง และนราธิวาส
จึงขอความร่วมมือประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยสำรวจพื้นบริเวณบ้านและชุมชน เก็บน้ำตามมาตรการปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย ดังนี้
1. เก็บบ้านให้สะอาด เก็บเสื้อผ้าให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดมุมอับ เป็นที่พักของยุง
2. เก็บขยะรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหาร หรือแก้วน้ำดื่ม พื้นที่น้ำขัง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
4.ใช้เครื่องพ่นหมอกควัน กับ ผลิตภัณฑ์กำจัดยุงและแมลง หรือ ผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย พ่นตามแหล่งพื้นที่มีน้ำขัง หรือพื้นที่มียุงอยู่ชุกชุม
ทั้งนี้หากมีอาการ ป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 หากมีอาการดังกล่าว หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาทิ ยาไอบูโพรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออกยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูล https://www.thairath.co.th